globe

EN

arrow-down

ผลการพิจารณาใบอนุญาตสโมสร ระดับ AFC ไทยลีก 1 และ ไทยลีก 2 ประจำฤดูกาล 2023/24

บริษัท ไทย ลีก จำกัด ขอแจ้งผลการพิจาณาใบอนุญาตสโมสร หรือ คลับไลเซนซิ่ง (Club Licensing) ที่กำหนดมาตรฐาน โดย สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ AFC ในปีฤดูกาล 2023/24 เพื่อเป็นมาตรฐานของสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขันในแต่ละระดับให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่เอเอฟซีและสมาคมฯ กำหนด

สำหรับการยื่นใบอนุญาตสโมสร บริษัท ไทย ลีก จำกัด ได้รับมอบหมายจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบการยื่นขอใบอนุญาตสโมสร (Club Licensing Administrator) ได้มีการจัดอบรม ประจำปี โดยให้สโมสรส่งเจ้าหน้าที่สโมสรที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการยื่นขอใบอนุญาตสโมสร (Club Licensing Officer) เข้าร่วมอบรม เพื่อทำการชี้แจงสาระสำคัญในระเบียบ ขั้นตอน เงื่อนไข และเงื่อนเวลาตามข้อบังคับและรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบปีที่เป็นมาตรฐานสำหรับการพิจารณาออกใบอนุญาตสโมสรฤดูกาล 2023/24 โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา สำหรับสโมสรที่ต้องการทำการแข่งขันในระดับ ไทยลีก 1 และไทยลีก 2 รวมไปถึงในวันที่ 3 มีนาคม 2566 สำหรับสโมสรในระดับ ไทยลีก 3 โดยเจ้าหน้าที่สโมสรต้องทำแบบทดสอบและผ่านแบบทดสอบสำหรับการการจัดทำเอกสารใบอนุญาตสโมสร และสโมสรต้องแจ้งความประสงค์ในการยื่นใบอนุญาตสโมสรในแต่ละระดับเป็นลายลักษณ์อักษร

ซึ่งหลังจากผ่านการอบรมทุกสโมสรจะต้องส่งเอกสารเข้ามายังระบบ AFC Club Licensing Administrative System (CLAS) ตามเงื่อนเวลาที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบฯ ซึ่งแบ่งออกเป็นดังนี้

  1. หลักเกณฑ์ด้านธุรกิจกำหนดการส่งเอกสารภายในวันที่ 31 มกราคม 2566
  2. หลักเกณฑ์ด้านกฎหมาย ด้านบุคลากร และด้านกีฬากำหนดการส่งเอกสารภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
  3. หลักเกณฑ์ด้านการเงิน และด้านโครงสร้างกำหนดส่งเอกสารภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566

หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาโดยคณะกรรมการพิจารณาออกใบอนุญาตสโมสร หรือ FIB ที่ได้จัดการประชุมและพิจารณาระดับ AFC ,T1 และ T2 วันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยผลการพิจารณามีดังนี้

ใบอนุญาตสโมสรในระดับ AFC

สโมสรที่ประสงค์จะยื่นทั้งหมด 10 สโมสร

สโมสรที่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 9 สโมสรแต่ติดมาตรการตักเตือน ระดับ B Criteria ในเรื่องหลักเกณฑ์ด้านบุคลากรได้แก่

สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ,สโมสรราชบุรี เอฟซี ,สโมสรการท่าเรือ เอฟซี ,สโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด ,สโมสรนครราชสีมา มาสด้า เอฟซี ,สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ,สโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด ,สโมสรทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด และ สโมสรชลบุรี เอฟซี

สโมสรที่ไม่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 1 สโมสร ได้แก่

สโมสรสุโขทัย เอฟซี เนื่องจากหลักเกณฑ์ด้านของโครงสร้างสนามแข่งขัน ไฟส่องสว่างที่ยังไม่ได้ตามมาตรฐานของ AFC แต่ทั้งนี้สโมสรสุโขทัย เอฟซี ผ่านหลักเกณฑ์มาตรฐานในไทยลีก 1

ใบอนุญาตสโมสรในระดับ Thai League 1

สโมสรที่ประสงค์จะยื่นทั้งหมด 16 สโมสร

สโมสรที่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 8 สโมสร ได้แก่

สโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด ,สโมสรโปลิศ เทโร เอฟซี ,สโมสรเชียงใหม่ ยูไนเต็ด ,สโมสรพีที ประจวบ เอฟซี ,สโมสรตราด เอฟซี ,สโมสรระยอง เอฟซี ,สโมสรสุพรรณบุรี เอฟซี และสโมสรแพร่ ยูไนเต็ด

สโมสรที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 8 สโมสร ได้แก่

สโมสรลำพูน วอริเออร์ เนื่องจากติดหลักเกณฑ์ในด้านของโครงสร้างสนามแข่งขันซึ่งรายละเอียดมีดังนี้

ในฤดูกาลที่ผ่านมา สโมสรลำพูน วอริเออร์ ผ่านใบอนุญาตสโมสรในระดับ Thai League 1 โดยมีเงื่อนไขในการปรับปรุง สนามองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน (แม่กวง) ให้แล้วเสร็จและให้ใช้ สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เป็นสนามสำรองจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2565 แต่หลังจากนั้นสโมสรลำพูน วอริเออร์ ได้ส่งหนังสือขอขยายเวลาในการใช้สนามสำรองจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ฝ่ายจัดการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด ได้อนุญาตเนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมและการแข่งขัน แต่เป็นการผิดเงื่อนไขในการพิจารณาใบอนุญาตสโมสรของคณะกรรมการพิจารณาออกใบอนุญาตสโมสร (FIB) และในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ซึ่งเข้าสู่การขอใบอนุญาตสโมสรในฤดูกาลหน้าแล้ว ไทยลีกได้จัดการประชุมนอกรอบชึ้แจงเรื่องเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในเรื่องหลักเกณฑ์ด้านโครงสร้าง สำหรับสโมสรที่มีสิทธิลุ้นขึ้นชั้นระดับ Thai League 1 และในวันเดียวกันนั้นเอง คณะกรรมการพิจารณาออกใบอนุญาตสโมสร ได้ส่งจดหมายติดตามเงื่อนไขที่สโมสรแจ้งว่าจะทำการปรับปรุงสนามองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ให้แล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากสโมสร ทั้งนี้สโมสรในหลักเกณฑ์ด้านโครงสร้างสนามหมดเขตส่งเอกสารวันที่ 31 มีนาคม 2566 สโมสรลำพูน วอริเออร์ ได้ยื่นสนามองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน (แม่กวง) เป็นสนามการแข่งขันหลัก ซึ่งผลจากพิจารณา ระบุว่า สโมสรจะต้องส่งเอกสารรับรองค่าไฟส่องสว่างสนามแข่งขันที่ถูกต้องและครบถ้วนตามระเบียบหรือส่งเอกสารสัญญาการจัดซื้อการจัดซื้อจัดจ้างให้ครบถ้วนตามระเบียบ โดยต้องระบุระยะเวลาแล้วเสร็จและพร้อมใช้งานก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2566 พร้อมแผนดำเนินงานที่ระบุกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน รวมไปถึงการส่งแผนการเพิ่มที่นั่งผู้ชมในสนามการแข่งขันโดยสามารถแบ่งเป็นระยะการทำงานได้ชัดเจน พร้อมแผนการปรับปรุงที่ระบุกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ทั้งนี้ต้องมีการปรับปรุงตามแผนในระยะแรกของการปรับปรุงให้ปรากฏเห็นผลภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 และสโมสรลำพูน วอริเออร์ ไม่มีสิทธิ์ส่งสนามสำรองได้ จะต้องทำการปรับปรุงสนามให้เสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้เท่านั้น เนื่องจากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นควรให้มีบทลงโทษเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ไม่สามารถปรับปรุงสนามหลักให้แล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้

สโมสรหนองบัว พิชญ เอฟซี ,สโมสรลำปาง เอฟซี และ สโมสรสมุทรปราการ ซิตี้ เนื่องจากติดหลักเกณฑ์ด้านอื่นๆโดยต้องส่งเอกสารภายใน 31 พฤษภาคม 2566

สโมสรนครปฐม ยูไนเต็ด และ สโมสรอุทัยธานี เอฟซี เนื่องจากติดหลักเกณฑ์ด้านโครงสร้างสนามโดยสโมสรจะต้องส่งเอกสารรับรองค่าไฟส่องสว่างสนามแข่งขันและแผนการเพิ่มที่นั่งผู้ชมในการสนามการแข่งขันที่ถูกต้องและครบถ้วนตามระเบียบหรือส่งเอกสารสัญญาการจัดซื้อการจัดซื้อจัดจ้างให้ครบถ้วนตามระเบียบ โดยต้องระบุระยะเวลาการแล้วเสร็จพร้อมใช้งานก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2566 พร้อมแผนดำเนินงานที่ระบุกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน และต้องมีการปรับปรุงให้เป็นไปตามแผนในระยะแรกให้ปรากฏภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ และ สามารถส่งสนามสำรองที่ผ่านมาตรฐานระดับไทยลีก 1 และเป็นสนามที่ตั้งอยู่ ณ ภูมิลำเนาเดียวกับสนามเหย้าของสโมสร

สโมสรนครศรี ยูไนเต็ด และ สโมสรอยุธยา ยูไนเต็ด เนื่องจากติดหลักเกณฑ์ด้านโครงสร้างสนามแต่ผ่านมาตรฐานในระดับไทยลีก 2

ใบอนุญาตสโมสรในระดับ Thai League 2

สโมสรที่ประสงค์จะยื่นทั้งหมด 9 สโมสร

สโมสรที่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 6 สโมสร

ได้แก่ สโมสรแกรนด์ อันดามัน ระนอง ยูไนเต็ด ,สโมสรเชียงใหม่ เอฟซี ,สโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล ,สโมสรคัสตอม ยูไนเต็ด ,สโมสรเกษตรศาสตร์ เอฟซี และสโมสรขอนแก่น เอฟซี

สำหรับสโมสรคัสตอม ยูไนเต็ดที่มีสิทธิ์ลุ้นเลื่อนชั้นขึ้นสู่ระดับไทยลีก 1 ในขณะนี้หากได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ระดับไทยลีก 1 จะไม่สามารถทำการแข่งขันในระดับไทยลีก 1 ได้เพราะสโมสรได้แจ้งความประสงค์ขอใบอนุญาตสโมสรมาเพียงระดับไทยลีก 2 เท่านั้น และจะเป็นทางสโมสรอุทัยธานี เอฟซี ได้เลื่อนชั้นแทน

สโมสรที่ไม่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 3 สโมสร

สโมสรอุดรธานี เอฟซี เนื่องจากติดหลักเกณฑ์ด้านโครงสร้าง ด้านบุคลากร และด้านการเงิน อีกทั้งยังมีเคสในเรื่องของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จาก สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ที่ยังต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมด 2 เคส และเคสภายในประเทศอีกจำนวน 20 เคส ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 และยังโดนแบนจากตลาดซื้อขายจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ

สโมสรฟุตบอลราชประชา และ สโมสรกระบี่ เอฟซี เนื่องจากติดหลักเกณฑ์ในด้านอื่นๆ โดยต้องส่งเอกสารเข้ามาภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566

ทั้งนี้ในการพิจารณาใบอนุญาตสโมสรขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการพิจารณาออกใบอนุญาตสโมสร (FIB) ที่สโมสรจะต้องส่งเอกสารเพิ่มเติมเข้ามาตามที่ได้แจ้งผลการพิจารณาไปในครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566

Latest

22 Nov 2024

แจ้งสนามแข่งขันในฐานะทีมเหย้า ของสโมสรลำพูน วอริเออร์

thai league

Read morearrow-right

22 Nov 2024

แจ้งสนามแข่งขันในฐานะทีมเหย้า ของสโมสรลำพูน วอริเออร์

thai league

Read morearrow-right

12 Nov 2024

แจ้งสลับทีมเหย้า ทีมเยือนการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพรายการ รีโว่ ไทยลีก 2024/25 คู่ระหว่าง นครปฐม ยูไนเต็ด พบ เมืองทอง ยูไนเต็ด

thai league

Read morearrow-right